บริการ
TH
EN
TH
CN

ครั้งแรก! ดีป้า ประกาศร่วมทุนภาคเอกชน ติดปีก ‘โกลบิช’ ปิดดีลระดมทุนรอบ Series A+ รุกขยายตลาดสู่ระดับสากล

29 สิงหาคม 2565, กรุงเทพมหานคร – ดีป้า ประกาศร่วมทุนครั้งใหญ่ที่สุดครั้งแรกในประวัติศาสตร์หน่วยงานภาครัฐไทย จับมือเครือข่ายพันธมิตรภาคเอกชน อัดงบกว่า 90 ล้านบาท ติดปีก โกลบิช ดิจิทัลสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาสู่ระดับ Series A+ เสริมความพร้อมธุรกิจ รุกขยายตลาดสู่ระดับสากล

ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีดิจิทัลสตาร์ทอัพไทยจำนวนไม่น้อยที่มีศักยภาพและความสามารถที่จะขยายตลาดสู่ระดับสากล แต่ในทางกลับกันสตาร์ทอัพเหล่านั้นอาจยังไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างตรงจุดจากภาครัฐ ซึ่ง ดีป้า ในฐานะหน่วยงานส่งเสริมตระหนักถึงความสำคัญ โดยเร่งสนับสนุนสตาร์ทอัพกลุ่มนี้ให้สามารถต่อยอดธุรกิจและเติบโตต่อไปได้ พร้อมระบุว่า รัฐต้องทำงานเชิงรุกและสามารถปรับเปลี่ยนตามสภาวะตลาด อีกทั้งควรบูรณาการการทำงานกับภาคเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อขับเคลื่อนดิจิทัลสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพกลุ่มนี้

ล่าสุด ดีป้า พร้อมด้วยเครือข่ายพันธมิตรบริษัทเงินร่วมลงทุน (Venture Capital: VC) ชั้นนำอย่าง N-VEST Venture, StormBreaker Venture, Premier, 500 TukTuks, ECG Research, RareJob, BonAngels และ นายอิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ (ต๊อบ เถ้าแก่น้อย) เข้าลงทุนใน บริษัท โกลบิช อคาเดเมีย (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มเรียนภาษาต่างประเทศออนไลน์แบบตัวต่อตัวกับเจ้าของภาษาผ่านการสื่อสารโดยตรงด้วยระบบวิดีโอคอลล์ในชื่อ โกลบิช (Globish) ดิจิทัลสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา (EdTech) ระยะเติบโต (Growth Stage) ด้วยมูลค่าเงินลงทุนรวมกว่า 90 ล้านบาท เพื่อผลักดันสู่ระดับ Series A+

“โกลบิช คือหนึ่งในดิจิทัลสตาร์ทอัพสัญชาติไทยที่ ดีป้า ให้การสนับสนุนตั้งแต่ระยะ Pre Series A ซึ่งเราเฝ้าดูและเห็นถึงประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงศักยภาพการเติบโต ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับเทรนด์เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ดังนั้น ดีป้า และเครือข่ายพันธมิตรจึงเข้าลงทุนใน โกลบิช โดยนับเป็นการร่วมลงทุนโดยตรงในดิจิทัลสตาร์ทอัพระยะเติบโตครั้งใหญ่ที่สุดครั้งแรกของหน่วยงานภาครัฐไทย ซึ่งจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญให้ โกลบิช สามารถต่อยอดธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง พร้อมกันนี้ ดีป้า และพันธมิตรจะร่วมเป็น ‘สะพาน’ เชื่อมโยง โกลบิช สู่ตลาดต่างประเทศ ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือ เพื่อขยายเครือข่ายความร่วมมือ เตรียมความพร้อมสู่การเป็นสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นรายใหม่ของประเทศต่อไป” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว

ด้าน นายธกานต์ อานันโทไทย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง โกลบิช อคาเดเมีย (ไทยแลนด์) กล่าวว่า ภายหลังการระดมทุนครั้งนี้ โกลบิช เตรียมเดินหน้าตามแผนการยกระดับสู่การเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก่อนขยายธุรกิจสู่ตลาดโลก โดยตั้งเป้ายกระดับแพลตฟอร์มสู่ผู้นำทางการศึกษาและทักษะแห่งอนาคต นอกเหนือไปจากการสอนด้านภาษา เพื่อนำไปสู่แพลตฟอร์มที่ช่วยอัพสกิลและรีสกิลที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลภายในปีนี้ไปจนถึงปี 2566 โดยทีมผู้สอน (Native) จากหลากหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น อังกฤษ สหรัฐอเมริกา แอฟริกาใต้ รวมถึงอียิปต์ อินเดีย ยูเครน และฟิลิปปินส์ รวมกว่า 400 คน อีกทั้งมีแผนที่จะเพิ่มจำนวนผู้สอนเป็น 1,000 คน เพื่อรองรับการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศหลังการคลายล็อกดาวน์

ปัจจุบัน โกลบิช สามารถขยายธุรกิจไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่าง นครโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม ซึ่งมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง พร้อมมองโอกาสในการขยายตลาดเพิ่มเติมไปในประเทศปากีสถาน และบังคลาเทศ เพื่อมุ่งสู่การเป็นสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาระดับภูมิภาค พร้อมตั้งเป้าเพิ่มคลาสเรียนสู่ 500,000 คลาสในปีนี้

“โกลบิช ยังคงเดินหน้าด้วยวิสัยทัศน์ ‘Empower People for Growth’ โดยมุ่งยกระดับศักยภาพคนไทยเพื่อไม่ให้พลาดโอกาส ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ผ่านแพลตฟอร์มการเรียนที่ให้ผู้เรียนเปิดคลาสเรียนส่วนตัวได้เอง อีกทั้งพัฒนาหลักสูตรให้สอดรับพฤติกรรมผู้เรียน และตอบโจทย์ตลาดแรงงานโลก นอกจากนี้ เทรนด์การรีสกิลและอัพสกิลในปัจจุบันถือเป็นจุดแข็งที่ทำให้ โกลบิช เติบโตเกินเป้าหมายในทุก ๆ ปีด้วยคลาสเรียนภาษาอังกฤษ และภาษาจีน มากถึง 300,000 คลาส มีสัดส่วนผู้เรียนที่เป็นกลุ่มเด็กและเยาวชน 20% และกลุ่มคนวัยทำงาน 80% โดยเราตั้งเป้าหมายรายได้ที่ 1,200 ล้านบาทในปี 2568” นายธกานต์ กล่าว

ขณะที่ นางสาวชื่นชีวัน วงษ์เสรี ผู้บริหารฝ่ายธุรกิจและผู้ร่วมก่อตั้ง โกลบิช อคาเดเมีย (ไทยแลนด์) กล่าวว่า ปัจจุบันความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นปัญหาที่สถาบันการศึกษาหลายแห่งต้องเผชิญ ด้วยรูปแบบการเรียนการสอนในห้องเรียนที่ส่วนใหญ่มีจำนวนนักเรียนมากกว่าครูผู้สอน ทำให้การเข้าถึงความรู้ภาษาอังกฤษของเด็กไทยลดลง ปัญหาดังกล่าวส่งผลให้เด็กไทยเติบโตเข้าสู่วัยทำงานพร้อมกับจุดอ่อนด้านภาษา จึงจำเป็นที่จะต้องเร่งรีสกิลและอัพสกิลด้วยตนเอง เพื่อเท่าทันกับภาวะการแข่งขันในตลาดแรงงานที่ต้องการทักษะด้านภาษาต่างประเทศ

นางสาวชื่นชีวัน กล่าวต่อว่า การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) สะท้อนการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจ ส่งผลให้ตลาดแรงงานทั่วโลกปรับตัว โดยไทยกำลังเผชิญกับภาวะการแย่งชิงบุคลากรที่มีทักษะเพิ่มขึ้น ปัจจัยดังกล่าวกระตุ้นให้องค์กรต่าง ๆ เปิดโอกาสให้พนักงานเพิ่มความรู้และทักษะภาษาอังกฤษที่ถือเป็นกุญแจสำคัญในการไขประตูสู่ความรู้และโอกาสทางธุรกิจด้วยการอัพสกิลและรีสกิลด้วยเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ซึ่งเราพบว่า ปัจจุบันองค์กรกว่า 300 แห่งที่อยู่บนแพลตฟอร์ม อาทิ iCE Consulting (บริษัทในเครือ iiG) ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีดิจิทัลขององค์กรธุรกิจ FWD ฯลฯ รวมถึงการออกแบบหลักสูตรเฉพาะตามเป้าหมายขององค์กร เช่น หลักสูตร Tech Talent สำหรับคนในสายงานเทคโนโลยีโดยเฉพาะที่อยู่บนแพลตฟอร์ม โกลบิช มุ่งพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ โดยเน้นเรื่องการสื่อสารแก่ผู้บริหารและผู้จัดการที่ต้องการพัฒนาทักษะด้านการนำเสนอและการพูดในที่ประชุมเป็นสำคัญ

ที่ผ่านมา โกลบิช ได้รับรางวัลระดับประเทศและนานาชาติมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Prime Minister's Digital Awards 2020 สาขา Digital Startup รางวัลผู้ก่อตั้งยอดเยี่ยมแห่งปีของประเทศไทย Rice Bowl Startup Award 2018 รางวัลธุรกิจเพื่อสังคมยอดเยี่ยม JUMC STAR 2017 จากสมาคมนิสิตเก่าเอ็มบีเอ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ติด 1 ใน 3 สตาร์ทอัพจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใน Pitch@Palace รองชนะเลิศอันดับที่ 1 ใน Swiss Innovation Challenge 2016 และล่าสุด Grand Winner, SPARK Ignite 2022 by HUAWEI