วันที่ 9 มีนาคม 2566, โรงแรม Centara Grand & Bangkok Convention Centre ดร.ชินาวุธ ชินะประยูร ผู้ช่วยผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมระบบนิเวศเศรษฐกิจดิจิทัล ร่วมงานสัมมนา “Private Market: โอกาสในการขับเคลื่อนธุรกิจนวัตกรรมไทย” เผยผลการศึกษาแนวทางการส่งเสริมระบบนิเวศ Startup ด้วยโครงการร่วมลงทุนระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงโอกาสในการพัฒนาตลาด Private Debt ในประเทศไทย พร้อมข้อเสนอเชิงนโยบายที่จะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาตลาดทุนและธุรกิจนวัตกรรมของประเทศไทย โดยมี ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เป็นประธานกล่าวต้อนรับและเปิดงาน
ในการนี้ ดร.ชินาวุธ ร่วมเสวนากับ ดร.เมธินี จงสฤษดิ์หวัง กรรมการผู้จัดการ Deloitte Consulting, คุณศรัณย์ สุตันติวรคุณ นายกสมาคม TVCA และคุณยุทธนา ศรีสวัสดิ์ นายกสมาคม Thai Startup ภายใต้หัวข้อ “Private Market : โอกาสในการขับเคลื่อนธุรกิจนวัตกรรมไทย” ซึ่งได้กล่าวถึงประเด็นสำคัญคือการสร้างความรู้ความเข้าใจถึงแนวทางการพัฒนาตลาด Private Market ในประเทศไทย ทั้งธุรกิจ Private Debt และธุรกิจ Venture Capital (VC) ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสและทางเลือกให้กับทั้งผู้ระดมทุนและนักลงทุนรวมถึงการส่งเสริม Startup และธุรกิจนวัตกรรมในประเทศไทยเพื่อให้ทุกภาคส่วนได้เตรียมความพร้อมและร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาตลาดทุนและเศรษฐกิจไทยได้ดียิ่งขึ้น
พร้อมกันนี้ ดร.ชินาวุธ ได้ให้ความเห็นถึงปัญหาภายในระบบการให้เงินทุนของภาครัฐในระดับ Early Stage ที่ไม่มีเงินทุนที่จะสามารถไปเริ่มธุรกิจของตนเองได้ จึงเป็นที่มาว่าทำไมจำนวน Startup ไทยถึงมีน้อยลงไป ซึ่งทาง depa ได้เล็งเห็นถึงปัญหาในส่วนนี้จึงได้มีนโยบายในการให้เงินทุน (Startup Fund) ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ Digital Startup Fund ในระดับ S2 และ S3 ให้สามารถเบิกเงินก่อนแล้วจึงนำใบเสร็จมาแจกแจงในช่วงปิดโครงการ ยังไม่เพียงเท่านั้น depa ยังเป็นหน่วยงานที่เชื่อมเงินทุนระหว่างหน่วยงานหลาย ๆ หน่วยงานเพื่อทำให้สามารถผลักดัน Startup ให้สามารถเติบโตไปต่างประเทศได้
ทั้งนี้ ดร.ชินาวุธ ยังได้เน้นย้ำถึงการปรับ mindset เงินทุนเพื่อสร้างคนเก่งให้เป็น National Agenda ในระดับชาติและต้องยอมรับว่าต้องทำทุกอย่างให้ไปพร้อม ๆ กันไม่ว่าจะเป็นการให้เงินทุนสนับสนุนนักศึกษาเพื่อสร้างคนเก่ง สร้าง Ecosystem ให้พร้อมกับ Startup ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตการมองภาพการพัฒนาตลาดทุนในอนาคต จึงอาจต้องใช้เวลาในการสร้างความรู้ความเข้าใจ กับ Stakeholders ในประเทศ เพื่อเปิดรับการเปลี่ยนแปลงอันจะนำไปสู่การพัฒนาตลาดทุนและเศรษฐกิจไทยในระยะยาว โดย CMDF คาดหวังว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะรับนำข้อเสนอจากงานสัมมนานี้เพื่อพิจารณายกระบบนิเวศในตลาดทุนต่อไป