บริการ
TH
EN
TH
CN

“ตัดทุเรียนชะนีลูกแรก ปี 2566” depa ตะวันออก โชว์ผลงาน KASETTRACK คาดสร้างมูลค่าทุเรียนคุณภาพส่งออกกว่า 3,000 ล้านบาท

วันที่ 8 มีนาคม 2566, จังหวัดตราด - สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) โดย ดร.อภิชาติบุตร รอดยัง ผู้อำนวยการเขตพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออก พร่อมด้วย นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร นายชยุทกฤดิ นนทแก้ว เกษตรจังหวัดตราด พร้อมคณะ ร่วมลงพื้นที่ติดตามระบบการบริหารจัดการทุเรียนส่งออกคุณภาพตลอดทั้งห่วงโซ่ Supply Chain จากสวนสู่ล้ง “ทุเรียนตราด ทุเรียนคุณภาพ คุณธรรม” ตามนโยบายการบริหารจัดการทุเรียนคุณภาพของ นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด

ภาพ ผู้อำนวยการเขตพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออก ดีป้า

โดย นายเข้มแข็ง ตรวจเยื่ยมขั้นตอนการบริหารจัดการทุเรียนจากสวนสู่ล้ง ณ ล้งโกศล ตำบลทุ่งนนทรี จังหวัดตราด และการบริหารจัดการทุเรียนในสวน รวมถึงการวัดเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้ง ณ สวนทุเรียนพันธุ์ชะนีของ นายคณึง ขาวเกลี้ยง ต้นแบบแปลงไม้ผลอัตลักษณ์ ตำบลอ่าวใหญ่ จังหวัดตราด ซึ่ง นายเข้มแข็ง ได้ตัดทุเรียนชะนีลูกแรก และวัดเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งผ่านตามเกณฑ์กำหนด ส่งสัญญาณถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิตทุเรียนปี 2566

ภาพ บรรยากาศการติดตามระบบการบริหารจัดการทุเรียนส่งออกคุณภาพตลอดห่วงโซ่

ด้าน ดร.อภิชาติบุตร กล่าวว่า depa ร่วมกับ เกษตรจังหวัด เกษตรอำเภอ และเกษตรตำบลในพื้นที่ส่งเสริมการนำแอปพลิเคชัน KASETTRACK มาประยุกต์ใช้ในการควบคุมการผลิตทุเรียนคุณภาพตามมาตรฐานส่งออก โดยเกษตรกรชาวสวนทุเรียนจะบันทึกกิจกรรมการเพาะปลูก รวมถึงเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้ง เพื่อเป็นการยืนยันความแก่ของทุเรียนก่อนถึงวันตัดล่วงหน้า 3 วัน

ปัจจุบันมีเกษตรกรชาวสวนทุเรียนในภาคตะวันออกและภาคใต้บันทึกกิจกรรมการเพาะปลูกผ่านแอปพลิเคชัน KASETTRACK แล้วกว่า 1,000 ราย โดยคาดการณ์ว่า KASETTRACK จะช่วยยกระดับผลผลิตทุเรียนคุณภาพ ปี 2566 มากกว่า 25,000 ตัน สร้างมูลค่าการส่งออกทุเรียนคุณภาพกว่า 3,000 ล้านบาท

ภาพ ทุเรียนคุณภาพ

ด้าน นายชยุทกฤดิ กล่าวว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดตราดได้มอบนโยบายการขยายผลการประยุกต์ใช้แอปพลิเคชัน KASETTRACK กับเกษตรกรชาวสวนผู้ปลูกทุเรียน  ครอบคลุมทั้งจังหวัดตราด สอดรับแผนส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลจังหวัดตราด และการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (SMART CITY) ด้านเศรษฐกิจอัจฉริยะ (SMART ECONOMY) เพื่อให้พี่น้องเกษตรกรได้ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ชาญฉลาด ผลิตทุเรียนคุณภาพ คุณธรรม สร้างรายได้อย่างยั่งยืน อีกทั้งยังเป็นการจัดเก็บชุดข้อมูลคาดการณ์ผลผลิตทั้งจังหวัด (City Data Platform) ด้านเกษตรอัจฉริยะของชาวสวนทุเรียน อีกด้วย

ภาพ เกษตรกรที่ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจาก ดีป้า