สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล โดยสถาบันส่งเสริมวิสาหกิจดิจิทัลเริ่มต้น จึงวางเป้าหมายในการดำเนินงาน คือการพัฒนาเครือข่ายและสร้างศักยภาพการเติบโตของวิสาหกิจดิจิทัลเริ่มต้น (From Startup to Scale Up) ที่มุ่งสู่การสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยอย่างแข็งแกร่งต่อไป เพื่อให้ประเทศไทยสามารถมีบทบาทนำทั้งในเวทีภูมิภาคและเวทีโลก
ตามแผนยุทธศาสตร์การส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ปี พ.ศ. 2561 – 2564 ได้กำหนดวิสัยทัศน์ให้ประเทศไทยก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัลที่มีพลวัตร บนฐานของสังคมที่รู้คิดรู้เท่าทัน และกำลังคนที่สามารถปรับตัวและใช้โอกาสจากเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล และได้กำหนดให้การพัฒนาและส่งเสริมวิสาหกิจดิจิทัลเริ่มต้น (Digital startup) เป็นแผนงานหลักในการขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยมีเป้าหมายที่ท้าทาย เช่น การพัฒนาวิสาหกิจดิจิทัลเริ่มต้นที่มีศักยภาพ จำนวน 1,000 ราย ในระยะเวลา 4 ปี (2561 – 2564) รวมถึงการเพิ่มโอกาสในการพัฒนาวิสาหกิจดิจิทัลเริ่มต้นที่ประสบความสำเร็จในระดับนานาชาติ ซึ่งโดยหลักสากล มีการพิจารณาจากการที่วิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) มีมูลค่า (Valuation) เกิน 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือที่เรียกว่ายูนิคอร์น (Unicorn)
ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาวิสาหกิจดิจิทัลเริ่มต้น ตลอดช่วงระยะเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมา โดยการส่งเสริมวิสาหกิจดิจิทัลเริ่มต้นผ่านกลไกต่างๆ ทั้งจากความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และภาคประชาสังคม ตั้งแต่การสร้างความตระหนัก ซึ่งส่งผลให้เกิดความเข้าใจ การตื่นตัว และขยายโอกาสให้วิสาหกิจดิจิทัลเริ่มต้นเติบโตมากขึ้นเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันก็มีผู้เล่นรายใหม่ๆ เข้ามาในระบบนิเวศการพัฒนาวิสาหกิจดิจิทัลเริ่มต้น ส่งผลให้ประเทศไทยเริ่มได้รับการจับตามองในระดับนานาชาติในหลายมิติ อาทิ ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่กิจการขนาดใหญ่ให้ความสนใจในการทำงานร่วมกับ Startup อย่างเข้มข้นมากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน เห็นได้จากการก่อตั้งกองทุนร่วมลงทุนของกิจการขนาดใหญ่ (Corporate Venture Capital: CVC) ที่มีมูลค่ารวมกันเกินกว่า 600 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ
ในขณะเดียวกัน พลวัตรในการพัฒนาวิสาหกิจดิจิทัลเริ่มต้นในบริบทโลก มีการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน อันเป็นผลมาจากกระแสการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างรวดเร็ว ทั้งการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีดิจิทัลอุบัติใหม่ (Emerging digital technologies) ที่มีผลต่อรูปแบบการประกอบธุรกิจ เช่น เทคโนโลยีบล็อกเชน และการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด เช่น เทคโนโลยี IoT และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยวิสาหกิจดิจิทัลเริ่มต้น ที่มีศักยภาพในการพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าว ถือเป็นกลุ่มที่มีความได้เปรียบทางการแข่งขันสูงและดึงดูดการลงทุนจากทั่วโลก จากรายงานพบว่า กลุ่มสตาร์ทอัพที่ได้รับการลงทุนเพิ่มสูงที่สุดในระยะ 5 ปีที่ผ่านมาได้แก่ (1) สาขา Advanced Manufacturing & Robotics (2) สาขา AgTech & New Food (3) สาขา Blockchain และ (4) สาขา AI, Big Data & Analytics ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่ประเทศไทยต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาวิสาหกิจดิจิทัลเริ่มต้นที่มีศักยภาพในการเชิงเทคโนโลยีที่จะมีผลกระทบต่อเศรษกิจโลกในอนาคต เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันให้ประเทศในระยะยาว